วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ขั้นตอนการจัดปอยส่างลอง




ปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วนั้นเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธซึ่งปกติจะมีการจัดงานอยู่ประมาณสามวัน แต่หากผู้ที่ทำการบวชนั้นมีฐานะดีก็จะมีการฉลองยาวนานเป็น 5 หรือ 7วันได้ ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆด้วย โดยประเพณีปอยส่างลองนี้เป็นประเพณีของคนไทยซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวไทใหญ่ ดังนั้นเราจึงจะพบเห็นประเพณีนี้กันมากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในบางส่วนของภาคเหนือ รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ด้วย
ในการบรรพชาเป็นสามเณรนั้นก็เพื่อศึกษาพุทธธรรมและเพื่อเป็นการทดแทนคุณบิดามารดา เหมือนอย่างที่พระราหุลซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า)กับพระนางยโสธรา(พิมพา)บวชเป็นสามเณรองค์แรกในพุทธศาสนา ก็เพื่อดำเนินรอยตามคำสั่งสอนของพระบิดา พระราหุลท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย





ก่อนที่จะถึงวันประเพณีปอยส่างลองหนึ่งวัน เด็กชายผู้ชายทุกคนที่เข้าร่วมประเพณีนี้จะต้องปลงผมและอาบน้ำให้สะอาดที่สุด และเจิมด้วยน้ำหอมเพื่อให้มีกลิ่นหอม แต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆอย่างอลังการ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใส่เครื่องประดับที่เป็นของจริงโดยมากจะเป็นเพชร พลอย และทองที่ทำขึ้นมาเหมือนจริงเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะกลัวของมีค่าสูญหายระหว่างการแห่ส่างลอง แต่ก็มีบางคนที่มีฐานะให้ลูกหลานใส่ของจริงก็มี นอกจากนั้นก็ยังมีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง(ลูกแก้ว) ดูสวยงามมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป





วันแรกของปอยส่างลอง หรือชาวบ้านจะเรียกกันว่า "วันเอาส่างลอง" จะเริ่มด้วยขบวนแห่ลูกแก้วซึ่งลูกแก้วก็จะมีการแต่งกายอย่างสวยงามเปรียบเหมือนกับเทวดาตัวน้อยๆ แห่ไปรอบๆเมืองตามถนนหนทางต่างๆ ซึ่งในขบวนแห่ก็จะประกอบไปด้วยเสียงดนตรีอันแสดงถึงความสนุกสนานรื่นเริงจากเครื่องดนตรีของไทใหญ่ ได้แก่ มองเซิง (ฆ้องชุด) ฉาบ และกลองมองเซิง (กลองสองหน้า)
ในอดีตนั้นการแห่ลูกแก้วไปรอบๆเมืองจะให้ลูกแก้วขี่ม้าแต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเพราะม้านั้นไม่ได้หากันง่ายๆเหมือนดังเช่นสมัยก่อน ในสมัยปัจจุบันก็จึงแห่ลูกแก้วโดยการให้นั่งเก้าอี้แล้วนำไปใส่หลังรถยนต์แห่ไปรอบเมืองแทน ในขบวนแห่ลูกแก้ว ลูกแก้วแต่ละคนก็จะมีผู้ติดตามซึ่งก็อาจเป็นพ่อ หรือญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชาย เพราะลูกแก้วนั่นเขาเปรียบเสมือนเป็นเทวดา ต้องใส่ถุงเท้าสีขาวตลอดทั้ง 3วันที่จัดงาน และห้ามไม่ให้ลูกแก้วได้เหยียบพื้น ดังนั้นเวลาจะไปที่ใดก็ต้องมีคนคอยแบก(ม้าขี่) หรือนำขี่คอไปยังที่ต่างๆ และก็ต้องมีอีกคนหนึ่งทำหน้าที่กางร่มที่มียอดสูงประดับทองกันแดดให้ไม่ให้ลูกแก้วต้องโดนแดดเผา นอกจากนี้ยังมีคนที่ต้องดูแลเพชรพลอยของมีค่าต่าง ๆ ที่ลูกแก้วสวมใส่อยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันการตกหล่นหรือโดนลักขโมย
จากนั้นเมื่อขบวนแห่รอบเมืองเสร็จสิ้น ก็จะเป็นขบวนแห่ลูกแก้วเหล่านั้นไปเยี่ยมญาติ ๆที่บ้าน หรือบางทีอาจเป็นผู้สูงอายุ ผู้อาวุโส และบุคคลสำคัญๆในชุมชน เพื่อไปทำแสดงความเคารพนับถือ และรับศีลรับพร จากนั้นญาติ ๆ และผู้สูงอายุก็จะใช้ด้ายสีขาวผูกข้อมือให้ลูกแก้วทุกคนเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายต่าง ๆ และบางทีก็จะให้ของกำนัลแก่ลูกแก้วบางคนอาจให้เป็นเงิน บางคนให้ขนม เป็นต้น





วันที่สอง หรือ "วันรับแขก" ก็จะมีขบวนแห่คล้ายๆกันกับวันแรกแต่ในวันที่สองนี้ในขบวนแห่จะประกอบด้วยเครื่องสักการะ ธูปเทียนต่างๆ เพื่อถวายพระพุทธ และเครื่องจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์ ในช่วงเย็น หลังจากที่ลูกแก้วรับประทานอาหารแล้วเสร็จ ก็จะมีพิธีทำขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อเตรียมตัวให้ลูกแก้วซึ่งจะเข้ารับการบรรพชาในวันรุ่งขึ้น โดยผู้นำที่ประกอบพิธีก็จะเป็นผู้อาวุโสที่ศรัทธาวัดทุกคนให้ความเคารพนับถือ






วันสุดท้าย คือ "วันบวช" พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำลูกแก้วไปยังวัด พอถึงวัด ลูกแก้วทั้งหมดก็จะกล่าวขออนุญาตเพื่อทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านได้อนุญาต ลูกแก้วก็จะพร้อมกันกล่าวคำปฏิญาณตน และอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นก็สามเณรอย่างสมบูรณ์ โดยอาจจะอยู่หลายเดือนเพราะว่าเป็นช่วงปิดเทอมหรืออยู่ 2-3 อาทิตย์ก็ได้


cr :http://th.wikipedia.org/wiki/ประเพณีปอยส่างลอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น