ในเรื่องเกี่ยวกับประเพณีนี้ หนังสืองานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ในหมวดขนบธรรมเนียมประเพณี เล่ม 1 ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ดังต่อไปนี้
ท่านบอกไว้ว่า ประเพณีใดก็ตามหากถือเป็นธรรมเนียมว่าสมควรประพฤติกันอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีผิดถูกทางศีลธรรมหรือทางระเบียบแบบแผน แต่ถือเป็นเพียงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ แบบนี้เรียกว่า ธรรมเนียมประเพณี หรือ ประเพณีนิยม เช่น การแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ด้วยการยกมือไหว้ อย่างไรก็ดี ประเพณีต่างๆจะเป็นประเพณีขึ้นได้ ต้องเป็นสิ่งที่สืบต่อ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมานาน หากเป็นอยู่ชั่วขณะ แม้จะนิยมปฏิบัติกันทั่วไป ก็มิใช่เป็นประเพณี เป็นแต่เพียง“แฟชั่น”ซึ่งนิยมกันสมัยหนึ่งเท่านั้น พอหมดความนิยมก็เลิกกันไป
ประเพณีเกิดจากความประพฤติหรือการกระทำของใครคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งเห็นประโยชน์และความจำเป็นตามที่ต้องการจากการกระทำเช่นนั้น และเมื่อคนอื่นเห็นดีก็เอาอย่าง ทำตามเป็นแบบอย่างเดียวกัน และสืบต่อเป็นส่วนรวมมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของชาติขึ้น วัฒนธรรม คือวิถีแห่งชีวิต หรือความเป็นอยู่ของคนในส่วนรวม อันมีความเจริญงอกงามได้ ถ้าผู้เป็นเจ้าของรู้จักรักษาและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เหมาะกับความเป็นไปของสมัย แต่ผู้ที่จะรู้จักแก้ไขและปรับปรุงของเก่าให้เข้ากับสมัยได้ดี ท่านว่าต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถริเริ่ม มีความคิด จิตใจที่ทันสมัย รู้จักปรับแก้ของโบราณให้มีความแปลกใหม่ ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขนี้ทำได้ 2 แบบ คือ
แบบแรก ปรับปรุงและแก้ไขเก่าให้เป็นใหม่ โดยยังรักษาคติโบราณไว้ ไม่ให้สูญไปแบบทันทีทันใด แต่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น สมัยก่อน คนมักทำบุญกับพระและวัด เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก แต่ปัจจุบันคนเริ่มทำบุญในรูปแบบอื่นๆมากขึ้น เช่น สร้างโรงเรียนแทนโบสถ์วิหาร หรือบริจาคทรัพย์ สิ่งของให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งก็ยังได้ชื่อว่าทำบุญและได้อานิสงส์ไม่แพ้กัน
แบบสอง คือ ปรับปรุงและแก้ไขเก่าให้เป็นใหม่ โดยวิธีพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ คือเลิกของเก่ามาเป็นใหม่เลย เช่น การเลิกทาสในอเมริกา การสั่งห้ามกินหมากในสมัยก่อน เป็นต้น
ทั้งสองแบบนี้ ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งที่จะปรับปรุงแก้ไข และเหตุที่ประเพณีเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แห่งความจำเป็นของสังคมโดยส่วนรวม ดังนั้น เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ประเพณีต่างๆซึ่งเป็นยุคสมัยนั้นๆ แต่โดยความจริงแล้ว ประเพณีหลายอย่างที่เป็นของเดิม แม้จะหมดประโยชน์หรือความจำเป็น เพราะไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่มา ก็ยังปรากฏว่ามีการประพฤติปฏิบัติตามๆกันอยู่ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเกิดความเคยชินที่เคยทำมาเช่นนั้น หากไม่ทำก็จะรู้สึกไม่สบายใจ กังวลหรือกลัวว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประเพณีใดก็ตามจะยืนยง และสืบทอดต่อเนื่องกันมาได้ ประเพณีนั้นจะต้องตรงกับมูลฐานแห่งความต้องการของมนุษย์ หรือเป็นประเพณีที่ได้แปรความหมายเดิมให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว ท่านว่า “ประเพณีนั้นตายยาก” เพราะโดยปกติ หากไม่มีเหตุจำเป็นที่จะเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่ค่อยมีใครไปเลิกหรือเปลี่ยนเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่จะเป็นประเพณีที่ล้าหลัง ถ่วงความเจริญ หรือเสียหายต่อส่วนรวม ประเพณีนั้นก็จะเลิกและหมดไปเอง ถ้ามีผู้ริเริ่มและคนส่วนใหญ่เห็นด้วย อย่างเช่น การล่าหัวคนของคนบางเผ่าในอัฟริกา การรัดเท้าของสาวจีน การกระโดดเข้ากองไฟเผาตัวตายตามสามีของหญิงในอินเดีย เป็นต้น ความประพฤติของส่วนรวมก็ย่อมจะปรับเปลี่ยนไปด้วยเพื่อความเหมาะสม และให้เข้าได้กับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น